วันนี้ทัวร์ไต้หวันจะพาไปนมัสการและชมวัดตามวิถีชาวพุทธแบบมหายานกัน ไปชมกันเลย
เนื่องจากพระพุทธศาสนาได้เข้าไปสู่เกาะไต้หวันเมื่อไรนั้น ยังไม่มีหลักฐานอะไรที่พอจะให้สันนิษฐานได้ ได้แต่สันนิษฐานเอาว่า ผู้นับถือพระพุทธศาสนาที่อพยพไปตั้งรกรากเดิมในไต้หวันนั้น เป็นผู้นำเข้าไป กล่าวคือ นับถือศาสนามาก่อนที่จะอพยพเข้าไป เมื่อมีผู้คนมากขึ้นก็มีวัดมีพระสงฆ์ และมีการติดต่อกับแผ่นดินใหญ่จีนโดยลำดับในภายหลัง ทั้งนี้เพราะปรากฏว่าในปี พ.ศ. ๒๒๐๔ วีรบุรุษเกาะไต้หวันชื่อโกซินกา เป็นชื่อที่ชาวตะวันตกเรียก แต่ชาวจีนเรียกว่า เช็ง เช่ง กง ได้ขับไล่พวกดัชที่ปกครองเกาะไต้หวันออกไป เวลานั้นพระพุทธศาสนาได้ตั้งมั่นอยู่บนเกาะนี้แล้ว ต่อมาอีก ๑๐๐ ปีเศษ คือ พ.ศ.๒๔๓๘ เกาะไต้หวันก็ตกอยู่ในการปกครองของประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา ๕๐ ปี เกี่ยวกับการนับถือศาสนามีข้อยุ่งยากเพียงเล็กน้อย อันเนื่องมาจากการเมือง แต่ทั้งชาวญี่ปุ่นที่อพยพเข้าไปและชาวจีนพื้นเมืองต่างก็นับถือพระพุทธศาสนาอยู่แล้วเป็นพื้น ข้อยุ่งยากเกี่ยวกับศาสนาก็เพียงญี่ปุ่นพยายามจะใช้ชาวเกาะนับถือศาสนาชินโต เพื่อล้างความเป็นจีนให้เป็นญี่ปุ่นเท่านั้น เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม พ.ศ. ๒๔๘๘ เกาะไต้หวันก็ตกเป็นของจีนตามเดิม เนื่องจากรัฐบาลจีนแพ้แก่คอมมิวนิสต์ในเวลาต่อมา เกาะไต้หวันกลายเป็นที่ตั้งของรัฐบาลแทนที่จะเป็นจังหวัดหนึ่ง
ฉะนั้น พระพุทธศาสนาในเกาะไต้หวันจึงได้มีบทบาทมากขึ้นทั้งภายในและภายนอกส่วนนิกายต่าง ๆ ตลอดพิธีกรรมก็เหมือนนิกายในจีนในแผ่นดินใหญ่ แต่มีนิกายน้อยกว่าที่มีอยู่บนแผ่นดินใหญ่ ๑
ก่อนหน้าที่จีนจะเข้ามาอยู่ไต้หวัน ศาสนาของชาวพื้นเมือง ก็คือ ลัทธิบูชาผีสางเทวดาวิญญาณและป่าเขาธรรมชาติอย่างชาวป่าทั่ว ๆ ไป เมื่อฝรั่งนำเอาคริสต์ศาสนามาเผยแผ่ ก็ไม่สู้จะแพร่หลายนัก ทั้งนี้ เพราะชาวพื้นเมือง ตามป่าดงอีกจำนวนมาก ยังไม่ยอมรับรู้กับศาสนาคริสต์นี้ มิหนำซ้ำยังตั้งตนเป็นปฏิปักษ์อีกด้วย ครั้งเมื่อจีนขับไล่ฝรั่งออกไป อิทธิพลคริสต์ศาสนาก็เป็นอันดับสูญตามไปด้วย พระพุทธศาสนาได้แพร่หลายตามมาพร้อมกับประชาชนจีนที่อพยพเข้ามาด้วย เป็นพระพุทธศาสนาลัทธิมหายานแบบจีน สังคมพุทธไต้หวันเป็นวัฒนธรรมมหายานมาแต่โบราณ จึงมีทิศทางให้ผู้นำศาสนาแสดงออกด้วยการลงไปบำบัดทุกข์บำรุงสุข ให้กับคนยากไร้ได้อย่างเต็มที่ องค์กรพุทธศาสนาในไต้หวัน มีนับร้อยนับพันองค์กร แต่ที่มีชื่อเสียงระดับแนวหน้ามี ๔ แห่ง คือ วัดฝอกวงซาน , วัดฝ่ากูซ่าน, วัดจงไถซาน , มูลนิธิฉือจี้ ดังรายละเอียดดังนี้
๑. วัดจงไถซาน (Zhongtai Temple)สัญลักษณ์ของวัดนี้เป็นรูปมือถือดอกบัว ผู้ก่อตั้ง คือ ท่านเหวยเจวี๋ยมหาเถระ วัดนี้มีชื่อเสียงในด้านการฝึกสมาธินิกายเซนหรือฌานสมาธิที่สืบทอดมาจากปรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงในจีน และมีขนาดองค์กรกว้างขวาง โดยเฉพาะพระสงฆ์และภิกษุณีมีจำนวนถึง ๑,๖๐๐ รูป เป็นภิกษุ ๔๐๐ เศษ เป็นภิกษุณี ๑,๒๐๐ รูป มีการแยกเรียนกันอย่างชัดเจนเป็นวิทยาลัยสงฆ์ฝ่ายชายกับฝ่ายหญิง ไม่เรียนรวมกัน มีแผนกต้อนรับ อำนวยความสะดวกอย่างดีเยี่ยม มีการจัดระดับแขก ซึ่งคณะของพวกเราได้รับเกียรติอย่างสูงสุด ที่รองเจ้าอาวาสได้ออกมาให้การต้อนรับด้วยตัวเอง และได้ให้คณะของพวกเราเข้าทางประตูกลางของพระวิหาร ซึ่งปกติจะอนุญาตให้เข้าเฉพาะแขกวีไอพี และได้อนุญาตให้ไปเยี่ยมชนบนเจดีย์ชั้น ๓๑-๓๔ ซึ่งปกติจะไม่ให้บุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้าออก เพราะเป็นชั้นประดิษฐานพระไตรปิฎก ทั้งของฝ่ายมหายานและฝ่ายเถรวาท รวมทั้งพระไตรปิฎกฉบับเทียนหลงของจีนที่บันทึกบนไม้ ปัจจุบันทั่วโลกมีไม่เกิน ๑๐๐ ชุด และยังอนุญาตให้ขึ้นไปเยี่ยมชมบนชั้นสูงสุดของเจดีย์คือชั้น ๓๗ ซึ่งปกติจะไม่เปิดให้ใครเข้าเยี่ยมชมได้ง่าย ๆ ยกเว้นกรณีพิเศษจริง ๆ เพราะด้านบนมีการจัดกิจกรรมฝึกสมาธิอย่างเคร่งครัด ไม่เปิดกว้างให้คนทั่วไปเข้าชม ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าวัดนี้มีการจัดเป็นองค์กรศึกษา มีสื่อธรรมะบริการ บริเวณวัดมีความสะอาดสะอ้าน การต้อนรับเป็นระบบ สามารถนำคนนับพัน ที่ต่างความคิดความเห็นมาอยู่รวมกันได้อย่างไร มีระบบการบริหารจัดการอย่างไร จึงมีความเป็นระบบระเบียบ สวยงาม
๒. มหาวิทยาลัยหนานหว่า ดำเนินการก่อตั้งโดยหลวงพ่อซิงหวิน ปฐมเจ้าอาวาสวัดฝอกวงซัน โดยท่านได้รวบรวมเงินบริจาคจากญาติโยมเดือนละ ๑๐๐ บาทต่อคน จำนวน ๑ ล้านคน เป็นเวลา ๓ ปี เพื่อมาสร้างมหาวิทยาลัยแห่งนี้ มีเนื้อที่ประมาณ ๑,๕๐๐ ไร่ เป็นมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา แต่ใช้รูปแบบตะวันตก เพราะโดยแนวความคิดของหลวงพ่อซิงหวิน ท่านให้ใช้แนวคิดพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่ ซึ่งในประเทศไต้หวันยังไม่อนุญาตให้เปิดเรียนศาสนาเดียว คณะพุทธศาสน์จึงไปอยู่รวมกับคณะศาสนาทั่วไปปัจจุบันมหาวิทยาลัยหนานหว่า มีนักศึกษา ๖,๐๐๐ คน แบ่งเป็น ๕ คณะ และบัณฑิตวิทยาลัย กฎระเบียบที่น่าสนใจที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้คือ ห้ามสูบบุหรี่ถ้าฝ่าฝืนปรับ ๒๐,๐๐๐ บาท หากใครอยากสูบก็จะต้องไปสูบในที่เฉพาะ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยทำไว้ให้ในสวนมีกำแพงล้อมรอบ สาขาที่น่าสนใจก็คือ สาขาชีวิตและความตายและสาขาธรรมชาติบำบัด ซึ่งทางมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้มีการลงนามตกลงทำความร่วมมือทางวิชาการ กับทางมหาวิทยาลัยหนานหว่ามาหลายปีแล้ว และทางบัณฑิตวิทยาลัยได้กำหนดให้นักศึกษาปริญญาเอกจำนวน ๒ ท่านนำเสนอผลงานทางวิชาการที่นี้ ซึ่งผู้เขียนได้นำเสนอหัวข้อ Education administration approach of Sangha in context of modern society หลังจากนำเสนอก็เปิดโอกาสให้ที่ประชุมซักถาม โดยมีท่านฮุ่ยไค่ฝ่าซือ คณบดีคณะชีวิตและความตายเป็นประธานที่ประชุมแทนท่านอธิการบดี เป็นที่น่าสังเกตว่ามหาวิทยาลัยหนานหว่าแห่งนี้ ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมือง ออกไปอยู่ทุ่งนา แต่มีนักศึกษามากมาย เป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมรอบๆ มหาวิทยาลัยให้แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติ ต่างจากเมืองไทยที่มหาวิทยาลัยจะล้อมรอบไปด้วยสถานบันเทิงต่างๆ มากมาย
๓.วัดฝอกวงซัน (Fo Guang Shan)หรือมูลนิธิแสงพุทธธรรมเมืองเกาสยง ซึ่งมีท่านซิงหวินมหาเถระเป็นปฐมเจ้าอาวาส ท่านได้มุ่งเน้นในงานด้านการศึกษาและช่วยเหลือสังคม ท่านมีอุดมคติอยู่ว่า ให้การศึกษาเพื่อพัฒนาบุคคลากร, เน้นวัฒนธรรมในงานแพร่ธรรม, เน้นการสาธารณสุขในงานพัฒนาสังคม, เน้นการปฏิบัติธรรมเพื่อจรรโลงซึ่งจิตใจคน และได้ขยายการพัฒนาไปสู่ ทวีปต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งได้สร้างวัดสาขากว่า ๒๐๐ วัด ซึ่งมีสาขาต่างๆ ทั่วโลกนับร้อยสาขา แม้ที่วัดโฝวกวงซัน จะเริ่มก่อตั้งมาเพียง ๔๐ ปี แต่การจัดการการศึกษาของพระสงฆ์ รวมถึงแนวทางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนามีความก้าวหน้าไปมาก โดยมีระบบการแต่งตั้งให้ผู้มีคุณธรรมและความสามารถมาเป็นผู้ดำเนินงานเพื่อประโยชน์สุขของสังคม ตามหลักที่ได้ตั้งไว้ว่า “พุทธศาสนาของโลกมนุษย์” (เหรินเจียนฝอเจี้ยว) ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามจริยาวัตรของพระโพธิสัตว์ในอดีต ปัจจุบันวัดฝอกวงซันมีพระสงฆ์มากกว่า ๑,๔๐๐ รูป (นับรวมทั้งชาย-หญิง) มหาวิทยาลัยโฝวกวงซัน ภายในวัดจะแยกสถานศึกษาระหว่างพระภิกษุกับภิกษุณีคนละฝั่งอย่างชัดเจน ไม่เรียนรวมกัน มีห้องสมุด ๕ หลัง ๓ หลังเป็นภาษาจีน ๑ หลังเป็นภาษาอังกฤษ ๑ หลังเป็นภาษาญี่ปุ่น หนังสือส่วนใหญ่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา วัดฝอกวงซันได้ตั้งกองทุนด้านการศึกษา การเผยแพร่วัฒนธรรม การสังคมสงเคราะห์ต่างๆ ทั้งยังมีพิพิธภัณฑ์ทางพุทธศาสนา ๘ แห่ง ห้องสมุดพระพุทธศาสนา ๑๑ แห่ง สำนักพิมพ์พระพุทธศาสนา โรงพยาบาลเคลื่อนที่ วิทยาลัยสงฆ์ ๑๖ แห่ง โรงเรียนอนุบาล ๗ แห่ง โรงเรียนประถม ๖ แห่ง และโรงเรียนมัธยม ๓ แห่ง และมหาวิทยาลัย ๔ แห่ง เช่น มหาวิทยาลัยชีไหล ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยหนันเทียน ออสเตรเลีย มหาวิทยาลัยหนานฮว๋า เมืองเจินอี้ ไต้หวัน และมหาวิทยาลัยโฝวกวง เมืองอี้หลัน ไต้หวัน ปกติชาวจีนจะมีเลือดนักการค้า และนักบริการอยู่แล้ว เมื่อมีจิตสำนึกด้านโพธิสัตว์เข้าไปแล้ว ก็ยิ่งเพิ่มความอ่อนน้อมถ่อมตน และความตั้งใจทำงานเพื่อสังคมหนักไปอีกหลายเท่า สอดรับกับอุดมการณ์ของวัด ๔ ข้อ คือ ให้ความมั่นใจแก่คน (ซิ่นชิน) ให้ความยินดีแก่คน (ฮวนสี่) ให้ความหวังแก่คน (ซีว่าง) และให้ความสะดวกสบายแก่คน (ฟังเปี้ยน)
๔.วัดฝ่ากู่ซัน (Dharma Dram Mountain)วัดและมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ ตั้งอยู่บนภูเขาทั้งลูก ซึ่งผู้ก่อตั้งคือท่านเซิ่งเหยียนมหาเถระ ซึ่งท่านเพิ่งมรณภาพ ซึ่งทางวัดได้จัดระบบเยี่ยมชม ให้เดินเป็นแถวด้วยความสงบตามผู้นำ เพราะบางอาคารกำลังมีประชาชนกำลังนั่งสมาธิปฏิบัติธรรม มหาวิทยาลัยฝ่ากูซัน แห่งนี้เน้นให้การศึกษากับพระภิกษุสงฆ์และภิกษุณี จัดการศึกษาภายไต้ปรัชญาที่ว่า “มนุษย์ธรรมแห่งสังคม สังคมแห่งมนุษยธรรม” และ “มุ่งยกระดับบุคลิกภาพแห่งมนุษยชาติและมุ่งสร้างโลกแดนสุขาวดี”
๕. มหาวิทยาลัยโฝวกวง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยสังกัดวัดฝอกวงซันก่อตั้งโดยหลวงพ่อซิงหวิน ซึ่งมหาวิทยาลัยแห่งนี้ตั้งอยู่บนยอดเขา ถนนทางขึ้นมหาวิทยาลัยนั้นหลวงพ่อซิงหวินเป็นผู้ระดมทุนมาสร้างใช้งบประมาณก่อสร้างกว่าพันล้านบาท จะมีภิกษุณีออกมาต้อนรับเวลาเดินผ่านจะยกมือไหว้พร้อมกับเปล่งคำว่า อะมีทอฝอ ตลอดทาง ภิกษุณีได้นำเยี่ยมชมมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะตึกคณะพุทธศาสตร์ซึ่งเพิ่งก่อสร้างเสร็จ ตึกของมหาวิทยาลัยโฝวกวงถูกออกแบบเป็นพิเศษเพื่อรับมือกับแผ่นดินไหว ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีนักศึกษาต่างชาติ รวมทั้งนักศึกษาไทยมาเรียนอยู่คณะพุทธศาสตร์ด้วย หลังจากเยี่ยมเสร็จก็เดินทางกลับ บรรดาภิกษุณีและนักศึกษาพากันมาส่งที่รถ ยืนโบกไม้โบกมือพร้อมกับกล่าวว่า อามีทอฝอ ท่ามกลางสายฝน สร้างความประทับใจให้กับคณะเป็นอย่างยิ่ง
๖. พิพิธภัณฑ์พิพิธภัณฑ์กู้กงเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บวัตถุ และผลงานทางศิลปะของจีนโบราณ ที่มีประวัติยาวนานกว่า ๕,๐๐๐ ปี เป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งของล้ำค่าทางประวัติศาสตร์ มีอยู่ที่นี่จำนวนมากกว่า ๖๒๐,๐๐๐ ชิ้นจากทุกราชวงศ์ของจีน จนต้องหมุนเวียนออกมาจัดให้ชม (ซึ่งหนึ่งชุด ๕,๐๐๐ ชิ้น) จะหมุนเวียนทุก ๓ เดือน ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดเครื่องปั้นดินเผา เครื่องทองสำริดต่างๆเหมาะมากกับท่านที่ชอบโบราณวัตถุ และงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องถมของจีน หรือการลงยาทองแบบอิสลามิค ที่เป็นเทคนิคที่แวดวงโลกอัญมณี หันมาสนใจมากขึ้น ซึ่งสามารถเรียกความสนใจจากดีไซน์เนอร์ยุคใหม่ได้ไม่น้อยทีเดียว นอกจากนี้ ยังมีห้องแสดงหยกที่ล้ำค่า โดยเฉพาะ “หยกแกสลักเป็นรูปผักกาดขาวที่มีตั๊กแตนเกาะอยู่” ที่ได้รับการจัดอันดับ ในความงดงามวิจิตรเป็นอันดับ ๑ ของโลก “ หยกหมูสามชั้น” “งาช้างแกะสลัก ๑๗ ชั้น” ที่มีชื่อเสียง แม้แต่“ตราลัญจกร ของจักรพรรดิเฉียนหลงที่ยิ่งใหญ่” ก็อยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ที่นี่ได้รับการยอมรับ ในการจัดการที่ยอดเยี่ยม จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ ๑ ใน ๓ ของโลกที่มีการจัดการที่ดีที่สุด๒
ทั้งนี้เพราะประชาชนส่วนใหญ่เป็นพุทธบริษัท วัดพระพุทธศาสนาวัดแรกที่สร้างขึ้นในไต้หวันชื่อ “วัดหมี่ท่อซื่อ” หรือ “วัดอมิตาภาราม” สร้างโดยจอมพลเจิ้งเฉิงกง พร้อมกับนายทัพนายกองร่วมกัน เชื่อสร้างเสร็จแล้วได้ไปนิมนต์พระสงฆ์จากผืนแผ่นดินใหญ่จีนเข้ามาจำพรรษา ฉะนั้นวัดนี้จึงเป็นปฐมสังฆารามแห่งแรกในไต้หวัน
ในปี พ.ศ. ๒๒๐๘ มีคณาจารย์นิกายเซ็นชื่อว่า “สมณะเซิ้งจือ” นำคณาศิษย์มาตั้งสำนักสอนวิปัสสนากัมมัฎฐานในไต้หวัน จำเดิมแต่นั้นมาพระพุทธศาสนาก็เจริญแพร่หลายทั่วไต้หวัน มีการสร้างวัดขึ้นตามเมืองต่าง ๆ
ในราว พ.ศ. ๒๒๒๖ – ๒๔๓๘ ซึ่งเป็นสมัยราชวงศ์เซ็งปกครองพระพุทธศาสนายิ่งรุ่งเรืองขึ้น จำนวนวัดทวีมากขึ้น วัดสำคัญที่สร้างในสมัยนี้ เช่น “วัดฟาฮัวซื่อ” หรือ “วัดสัทธรรมปุณฑริการาม” สร้างโดยเจ้าเมืองไทนานชื่อ “เจียงลิวอิง” พร้อมด้วยข้าราชการและประชาชนร่วมกัน ครั้งเมื่อตกไปเป็นของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพุทธบริษัทเช่นเดียวกัน ทางราชการญี่ปุ่นกลับให้การสนับสนุนกิจการพระศาสนาให้ไพศาลยิ่งขึ้น สมัยนี้นิกายพุทธศาสนาแบบญี่ปุ่น คือ นิกายเซ็น นิกายจโยโด นิกายชิน ได้แพร่หลายเข้ามา นิกายเหล่านี้มาตั้งสาขาขึ้นที่ไต้หวัน และมีวัดของสงฆ์จีนหลายวัดขอขึ้นกับนิกายญี่ปุ่น
ในปี พ.ศ.๒๔๖๕ ภายใต้การสนับสนุนของทางราชการญี่ปุ่นพุทธศาสนาสมาคมแห่งไต้หวันก็ได้อุบัติขึ้น เรียกชื่อว่า “พุทธศาสนาสมาคมแห่งนานจวง” ประกอบด้วยภาคที่เป็นทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ มีนิตยสารเผยแพร่พุทธธรรมออกประจำเดือน และมีการปาฐกถาอบรมความรู้ทางพระพุทธศาสนาเป็นครั้งคราวสมาคมนี้ตั้งอยู่ได้ร่วม ๓๐ ปี จนถึงสมัยไต้หวันคือไปเป็นของจีนจึงยุติ
ปัจจุบันกาล กล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนาได้เปล่งรัศมีกำจายไปทั่วเกาะไต้หวันอย่างไม่มีสมัยใดทัดเทียม เพราะมีคณาจารย์และอุบาสก ที่คงแก่เรียนจำนวนหนึ่งจากแผ่นดินใหญ่จีนตามรัฐบาลคณะชาติเข้ามาสู่ไต้หวัน พุทธบริษัทผู้คงแก่เรียนเหล่านี้ ได้เป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา